วันอังคารที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2553

มะเร็งคืออะไร



มะเร็ง เป็นเนื้องอกชนิดร้ายที่เนื้อมะเร็งมีการแทรกซึมเข้าไปในเนื้อเยื่อปรกติที่อยู่โดยรอบ เป็นเซลล์ร่างกายที่มีการแบ่งตัวไม่เป็นไปตามแบบแผนอยู่นอกเหนืออำนาจการควบคุม สามารถแพร่กระจายไปยังบริเวณอื่นของร่างกายที่ห่างไกลออกไป และไม่ติดต่อกับก้อนมะเร็งเดิม มะเร็งสามารถเกิดจากเซลล์ทุกชนิดในร่างกาย ยกเว้น ขน ผม เล็บที่งอกออกมาแล้วเท่านั้น

การแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง มีได้ 4 วิธี คือ

1. โดยทางกระแสเลือด (หลุดเข้ากระแสเลือด แล้วไปเจริญเติบโตในอวัยวะต่างๆ เช่น ปอด ตับ กระดูก สมอง เป็นต้น)
2. กระแสน้ำเหลือง (หลุดเข้าหลอดน้ำเหลือง แล้วไปเจริญเติบโตในต่อมน้ำเหลืองบริเวณใกล้เคียง หรืออยู่ห่างไกลออกไป และสามารถแพร่กระจายเข้าสู่หลอดเลือดอีกทีหนึ่ง)
3. การฝังตัวของเซลล์มะเร็ง (หลุดแล้ว ตกไปงอกตรงส่วนที่มีเซลล์มะเร็งตกอยู่)
4. การแพร่กระจายแทรกตัวไปตามพื้นผิวภายในอวัยวะที่เป็นมะเร็งและอวัยวะหรือเนื้อเยื่อที่อยู่ข้างเคียง

สาเหตุการเกิดมะเร็ง

สาเหตุที่แท้จริงของโรคมะเร็ง ในปัจจุบันยังไม่สามารถบอกได้แน่ชัด แต่มีข้อมูลสนับสนุนว่า มาจากสาเหตุหลายๆอย่างร่วมกัน เช่น

1. สาเหตุภายในร่างกายเอง (เชื้อชาติ, พันธุกรรม, เพศ, อายุ เป็นต้น)
2. สาเหตุจากภายนอกร่างกาย (ทางกายภาพ - แสงอาทิตย์, นิ่ว, แผลจากไฟไหม้, น้ำร้อนลวก ; ทางเคมี-สารหนู, สีย้อมผ้า, บุหรี่ เป็นต้น)
3. การอักเสบจากการติดเชื้อเรื้อรังนานๆ
4. ฮอร์โมนที่มีผลต่อการเป็นมะเร็ง โดยจะพบค่าผิดปรกติ เมื่อเป็นโรคมะเร็ง

การดูแลตนเองให้พ้นจากมะเร็ง

หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ ที่อาจทำให้เกิดโรคมะเร็ง เช่น พฤติกรรมการรับประทานอาหารจำพวกดิบๆสุกๆ, มีไขมันสูง, ปิ้ง-ย่าง, ดองเค็ม, อาหารที่ถนอมด้วยเกลือไนเตรต-ไนไตรท์ หรืออาหารที่เก็บทิ้งไว้นานจนเชื้อราขึ้น นอกจากนี้โอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งยังมาจากการกินเหล้า สูบบุหรี่ หรือการตากแดดจัดเป็นเวลานานๆ ทำให้มีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งได้ ดังนั้นจึงควรให้การดูแลสุขภาพอนามัยเป็นประจำสม่ำเสมอ รับประทานอาหารให้ถูกหลักอนามัยครบทั้งห้าหมู่ โดยเฉพาะผัก ผลไม้ ข้าว ข้าวโพด เมล็ดธัญพืชอื่นๆ การออกกำลังกายเป็นประจำ ร่วมไปกับการดูแลน้ำหนักไม่ให้มากเกินไป และเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรค โดยพยายามทำจิตใจให้ เบิกบาน ไม่มีเรื่องเศร้าหมอง แต่เมื่อตรวจพบอาการผิดปรกติให้รีบมาปรึกษาแพทย์ทันที


แหล่งข้อมูล : www.ramaclinic.com

โรคอ้วน - ความอ้วนเกิดจากอะไร


1. เกิดจากสาเหตุภายนอก เป็นสาเหตุใหญ่ที่เกิดโรคอ้วน เพราะตามใจปากมากเกินไป กินมากเกินความต้องการของร่างกาย อาหารที่กิน เนื้อ ไขมัน หรือแป้ง ของหวาน สิ่งเหล่านี้จะถูกเก็บสะสมไว้ในร่างกาย ถ้ามีมากเกินไปก็จะกลายเป็นไขมันพอกพูนตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย ออกกำลังกายน้อย กินแล้วนอน
• นิสัยในการรับประทาน คนที่มีนิสัยการรับประทานที่ไม่ดี เรียกว่า กินจุบกินจิบไม่เป็นเวลา
• ขาดการออกกำลังกาย ถ้ารับประทานอาหารมากเกินกว่าที่ร่างกายต้องการ แต่ได้ออกกำลังกายบ้างก็อาจทำให้อ้วนช้าลง แต่หลายคนไม่ได้ยืดเส้นยืดสาย ไม่ช้าจะเกิดการสะสมเป็นไขมันในร่างกาย

2. มาจากสาเหตุภายใน พบได้จากความผิดปกติของต่อมไร้ท่อ เช่น ต่อมใต้สมอง ต่อไทรอยด์ ทำให้มีไขมันตามบริเวณต้นแขน ต้นขา และหน้าท้อง
• จิตใจและอารมณ์ มีคนเป็นจำนวนไม่น้อยที่การกินอาหารขึ้นอยู่กับจิตใจและอารมณ์ เช่น กินดับความโกรธ ดับความคับแค้นใจ กลุ้มใจ กังวลใจ หรือดีใจ บุคคลเหล่านี้ จะรู้สึกว่าอาหารที่ทำให้จิตใจสงบ จึงหันมายึดเอาอาหารไว้เป็นที่พึ่งทางใจ ตรงกันขามกับบางคนกลุ้มใจเสียใจก็กินไม่ได้ นอนไม่หลับ
• ความไม่สมดุลระหว่างความรู้สึกอิ่มกับความหิว เมื่อใดที่ความอยากเพิ่มขึ้น เมื่อนั้นการกินก็จะเพิ่มมากขึ้น ซึ่งถึงขั้นเรียกว่า กินจุ ในที่สุดก็อ้วนเอาๆ

3. เพราะกรรมพันธุ์ ซึ่งพบได้น้อย กรรมพันธุ์นี้พิสูจน์ไม่ได้ แต่ถ้าพ่อและแม่อ้วนทั้งสองคน ลูกจะมีโอกาสอ้วนได้ถึงร้อยละ 80 ถ้าพ่อหรือแม่คนใดคนหนึ่งอ้วน ลูกมีโอกาสอ้วนได้ถึงร้อยละ 40
4. โรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันสูง
5. จากการกินยาบางชนิด ก็ส่งผลกระทบให้อ้วน ผู้ป่วยบางโรคได้รับฮอร์โมนสเตียรอยด์เป็นเวลานาน ก็ทำให้อ้วนได้ และในผู้หญิงที่ฉีดยาหรือกินยาคุมกำเนิดก็ทำให้อ้วนง่ายเช่นกัน
6. เพศ เพศหญิงนั้นมักอ้วนกว่าเพศชาย ก็ธรรมชาติเธอมักสรรหาจะกิน กิน และกิน ตลอดเวลา อีกทั้งตอนตั้งครรภ์ ก็ต้องกินมากขึ้น เพื่อบำรุงร่างกายและลูกน้อยในครรภ์ แต่หลังจากคลอดลูกแล้ว บางรายก็ลดน้ำหนักลงมาได้ แต่บางรายก็ลดไม่ได้ ผู้หญิงทำงานน้อย ออกกำลังน้อยกว่าชาย ผู้หญิงอ้วนมากกว่าผู้ชาย 4 : 1

อายุ เมื่อมากขึ้น โอกาสโรคอ้วนถามหาก็ง่ายขึ้น เนื่องจากพออายุมาก มีความเชื่องช้า ใช้พลังงานน้อยลง กินมากกว่าใช้ หญิงและชายที่มีอายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป มักจะอ้วนง่าย เพราะคนวัยนี้ ยังอยู่ในวัยทำงานมาก กินมากขึ้นเพื่อชดเชยกำลังงานที่ถูกใช้ไป คนมีสุขภาพจิตดีมักมีรูปร่างสมส่วนแข็งแรง บางคนสุขภาพจิตไม่ดี อารมณ์เครียดเป็นประจำ ทำให้เกิดความท้อถอย เบื่อหน่าย ขี้เกียจออกกำลัง โรคอ้วนก็จะถามหา




แหล่งข้อมูล : นิตยสาร Alternative Medicine

ไขมันในเลือดสูงควรปฏิบัตเช่นไร?


ปกติไขมันถือเป็นสารอาหารที่จำเป็นอย่างหนึ่งของคนเรา ไขมันบางประเภทยังให้กรดไขมันจำเป็นที่ร่างกายขาดไม่ได้ ไขมันเป็นตัวช่วยดูดซึมวิตามินที่ละลายในไขมัน ได้แก่ วิตามินเอ ดี อี และเค แต่ถ้าหากรับประทานอาหารที่มีไขมันมากไป ก็จะทำให้มีผลเสียเกิดขึ้นได้จากไขมัน ในเลือดสูง เพราะไขมันอาจจะไปตกตะกอนในหลอดเลือดแดง โดยเฉพาะหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจ อาจทำให้ตีบตันได้

ปกติไขมันในเลือดคนเราที่สำคัญมี 4 ชนิด แต่ที่จะกล่าวถึงคือ โคเลสเตอรอลและไตรกลี เซอไรด์ ซึ่งมีความสำคัญต่อโรคหัวใจขาดเลือด ไขมันทั้ง 2 ชนิดนี้ ถ้ามีปริมาณสูงในเลือด จะมีส่วนที่ทำให้เกิดความผิดปกติที่หลอดเลือดแดง ในลักษณะที่เรียกว่า หลอดเลือดแดงแข็ง ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของโรคหัวใจ จากหลอดเลือดหัวใจตีบตัน และทำให้เกิดภาวะหัวใจขาดเลือดได้ และยิ่งค่าของโคเลสเตอรอล และไตรกลีเซอไรด์สูงมากขึ้นเท่าใด อัตราเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจดังกล่าว จะสูงขึ้นไปเท่านั้น

การที่จะทราบว่าใครมีไขมันในเลือดสูง จะต้องเจาะเลือดไปตรวจ โดยท่านต้องงดอาหารทุกชนิด ก่อนการเจาะเลือด 12 ชั่วโมง ควรเจาะดูทั้งโคเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ จึงจะนำมาวิเคราะห์ได้ เพื่อวางแผนลดไขมันทั้ง 2 ชนิดได้ดี ค่าปกติของโคเลสเตอรอลไม่เกิน 200 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร และไตรกลีเซอไรด์ ไม่เกิน 150 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร

สำหรับหลักการป้องกันและบำบัดภาวะไขมันในเลือดสูง ได้แก่การจำกัดรับประทานไขมัน รู้จักวิธีเลือกน้ำมันที่จะใช้ในการปรุงอาหาร การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การรักษาน้ำหนักตัวไม่ให้อ้วนและงดการสูบบุหรี่

การปรุงอาหารด้วยวิธีอบ นึ่ง และ ปิ้ง ช่วยลดปริมาณไขมันที่บริโภคได้ถึง 50-80 % เลยทีเดียว ถ้าต้องใช้น้ำมันควรเป็นน้ำมันพืช ซึ่งเป็นไขมันชนิดไม่อิ่มตัว ดีกว่าที่จะใช้ไขมันชนิดอิ่มตัว หรือบางท่านเรียกว่าไขมันผู้ร้ายซึ่งได้จากน้ำมันสัตว์ อาหารประเภทนมระเหย เช่น น้ำมันมะพร้าว น้ำมันปาล์ม

เมื่อไขมันในเลือดสูง

ระดับของไขมันในเลือดจะสูง เมื่อบริโภคอาหารเกินความต้องการของร่างกาย เพราะอาหารทุกชนิดคือ แป้ง เนื้อสัตว์ หรือไขมัน เมื่อบริโภคเกินความต้องการร่างกาย ก็จะเปลี่ยนเป็นไขมันสะสมไว้ทันที

ตัวท่านเองนี่แหละ ที่จะมีส่วนทำให้ไขมันในเลือดลดลงได้ โดยที่จะต้องมีความตั้งใจและมุ่งมั่น ว่าต้องทำให้ได้ ถ้าท่านเป็นคนรับประทานจุ ก็ต้องรู้จักประมาณตนเอง อาหารที่รับประทานควรมีคุณค่าทางโภชนาการ อาหารที่ควรงดได้แก่ อาหารที่ไขมันมากพวกเครื่องในต่างๆ ไข่แดง สัตว์ที่มีกระดอง พวกที่รสหวานจัด น้ำอัดลม ขนมหวาน ถ้าท่านมีงานสังสรรค์บ่อย รับประทานอาหารตามภัตตาคาร ซึ่งมักจะเป็นอาหารที่มีไขมันสูง ท่านต้องพยายามหลีกเลี่ยง

การเลือกบริโภคไขมันมีความสำคัญมากคือ การเกิดโรคหัวใจจากหลอดเลือดหัวใจตีบตัน ท่านควรเลือกบริโภคไขมันจากพืช ยกเว้นกะทิและน้ำมันปาล์มนะคะ ที่ท่านไม่ควรบริโภค หากท่านมีไขมันในเลือดสูง ท่านควรละเว้นการบริโภคไขมันจากสัตว์ แต่ยกเว้นไขมันจากปลานะคะ ที่ท่านสามารถบริโภคได้ สรุปแล้วก็คือไขมันที่ท่านควรเลือกบริโภค คือไขมันชนิดไม่อิ่มตัว เห็นได้จากไม่เป็นไขเวลาใส่ไว้ในตู้เย็น

การเลือกบริโภคอาหารที่ถูกต้อง นอกจากจะช่วยป้องกันโรคหัวใจแล้ว ยังช่วยป้องกันโรคมะเร็งอีกด้วย ประเทศไทยเป็นประเทศ ที่อุดมสมบูรณ์ด้วยพืชผักผลไม้ จึงสมควรที่จะหาประโยชน์ จากการเลือกบริโภคอาหาร ที่ให้คุณค่าราคาถูกอย่างถูกวิธี โดยสรุปได้ดังนี้ คือ

1. รับประทานผักใบเขียว ผลไม้สีแดง และสีส้มเป็นประจำ เช่น ผักตำลึง มะละกอสุก
2. รับประทานไขมันอิ่มตัว พวกเนย เนยเทียม แต่น้อย
3. ใช้ไขมันไม่อิ่มตัวปรุงอาหาร เช่น น้ำมันถั่วเหลือง
4. รับประทานเมล็ดธัญญพืช เช่น ข้าวซ้อมมือ ถั่ว เป็นต้น

หวังว่าไขมันในเส้นเลือดที่สูงของท่าน คงจะลดลงมาได้ โดยไม่ต้องอาศัยยารักษา แล้วท่านจะปลอดภัยจากโรคหัวใจตลอดไป


แหล่งข้อมูล : www.Bangkokhealth.com

อาการของ โรคหัวใจ


หัวใจคนเรามี 4 ห้อง แบ่งซ้าย-ขวาโดยผนังของกล้ามเนื้อหัวใจ และแบ่งเป็นห้องบน-ล่างโดยลิ้นหัวใจ
• โดยทุกๆ วัน หัวใจจะเต้นประมาณ 100,000 ครั้ง และสูบฉีดเลือดประมาณวันละ 2,000 แกลลอน
• วงจรการไหลเวียนของเลือด : จะเริ่มจาก หัวใจห้องขวาบนรับเลือดดำจากส่วนต่างๆ ของร่างกาย เช่น แขน ขา เลือดส่วนนี้จะไหลผ่านลิ้นหัวใจไตรคัสปิด (Tricuspid) ไปยังหัวใจห้องขวาล่าง ซึ่งจะบีบตัวตามมาไล่เลือดที่เป็นเลือดดำออกไปฟอกที่ปอด โดยผ่านหลอดเลือดที่เรียกว่า Pulmonary Artery เลือดจะถูกฟอกที่ปอดโดยอาศัยการแลกเปลี่ยน gas ผ่านทางหลอดเลือดเล็กๆ ที่ผนังถุงลมของปอด จากนั้นเลือดที่เป็นเลือดแดงจะไหลมารวมกันที่หลอดเลือดใหญ่ ซึ่งเรียกว่า Pulmonary Vein เพื่อไหลกลับเข้าสู่หัวใจอีกครั้งที่ห้องซ้ายบน เลือดจะไหลจากห้องซ้ายบนมาห้องซ้ายล่าง โดยผ่านลิ้นหัวใจไมตรัล (Mitral) เมื่อเลือดแดงอยู่ในห้องหัวใจซ้ายล่างแล้วก็พร้อมที่จะถูกฉีดออกไปเลี้ยงร่างกายทางหลอดเลือดแดงใหญ่ Aorta ผ่านลิ้นหัวใจเอออร์ติด (Aortic) เมื่อผ่านส่วนต่างๆ แล้ว เลือดจะกลับสู่หัวใจด้านขวาอีกครั้ง

โรคลิ้นหัวใจ ที่เป็นปัญหามากที่สุดคือ ลิ้นหัวใจพิการ รูมาห์ติค ซึ่งเป็นผลจากการติดเชื้อคออักเสบ ลักษณะของการที่เกิด คือ เหนื่อยง่ายเวลาออกกำลัง อ่อนเพลีย ไอเรื้อรังและมักไอเวลากลางคืน ไอแห้ง มีอาการใจสั่น ไอเป็นเลือด เป็นลมไม่รู้สติ เจ็บหน้าอก หลอดเลือดที่คอเต้นแรง ผอมแห้ง มีอาการบวม หอบเหนื่อย นอนราบไม่ได้ การตรวจเอ็คโค่ (Echo) จะช่วยบอกถึงรายละเอียดของความผิดปกติของหัวใจได้

โรคหลอดเลือดหัวใจ เกิดได้จากหลายสาเหตุ แต่ที่พบได้บ่อยที่สุด เกิดจากการสะสมของไขมันที่ผนังหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดหัวใจตีบและตันในที่สุด

โรคกล้ามเนื้อหัวใจ : กล้ามเนื้อหัวใจทำงานผิดปกติไม่ว่าจะบีบ หรือคลายตัว กล้ามเนื้อหัวใจหนากว่าปกติ เป็นต้น ซึ่งโรคที่พบบ่อยคือ โรคกล้ามเนื้อหัวใจเสีย เนื่องจากความดันโลหิตสูงที่ไม่ได้รับการรักษามานาน กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดหรือกล้ามเนื้อหัวใจตายบางส่วน เนื่องจากหลอดเลือดหัวใจตีบหรือตัน เป็นต้น

อาการเจ็บหน้าอกที่เกิดจากโรคหัวใจขาดเลือด

1. เจ็บแน่นๆ อึดอัดบริเวณกลางหน้าอกอาจจะเป็นด้านซ้ายหรือทั้งสองด้าน และมักจะไม่เป็นด้านขวาด้านเดียว บางรายจะร้าวไปที่แขนซ้ายหรือทั้งสองข้าง หรือจุกแน่นที่คอ บางรายเจ็บบริเวณกรามคล้ายเจ็บฟัน
2. อาการตามข้อ 1 เกิดขึ้นขณะออกกำลัง เช่น เดินเร็วๆ รีบขึ้นบันได วิ่ง โกรธโมโห อาการดังกล่าวจะดีขึ้นเมื่อหยุดออกกำลัง
3. ในบางรายที่อาการรุนแรง อาการแน่นหน้าอกอาจเกิดขึ้นในขณะพัก เช่น นั่ง หรือ นอน หลังอาหาร
4. กรณีที่เกิดหลอดเลือดหัวใจอุดตัน กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน อาการจะรุนแรงมาก อาจมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น เหงื่อออกมาก เป็นลม อาการเช่นนี้ยังพบได้ในโรคของหลอดเลือดแดงใหญ่ปริหรือฉีก

ขาบวม : อาการขาบวมเกิดจากการที่ร่างกายมีเกลือ (โซเดียม) และน้ำคั่งอยู่ในร่างกาย โดยอาจเกิดจากโรคไตขับเกลือไม่ได้ โรคหลอดเลือดดำอุดตัน การไหลเวียนไม่สะดวก ขาดอาหาร โปรตีนในเลือดต่ำ โรคตับ ยาและฮอร์โมนบางชนิด โรคหัวใจ หรือในบางรายอาจไม่พบสาเหตุ การบวมในผู้ป่วยโรคหัวใจเกิดจากการที่หัวใจด้านขวาทำงานลดลง เลือดจากขาไม่สามารถไหลเทเข้าหัวใจด้านขวาได้โดยสะดวก จึงมีเลือดค้างที่ขามากขึ้น

ภาวะหลอดเลือดแดงแข็งตัวผิดปกติ เป็นผลมาจากการสะสมของไขมันและแคลเซียมในผนังของหลอดเลือดแดง ภาวะนี้เป็นความเสื่อมของหลอดเลือดที่เกิดขึ้นทั่วร่างกาย ทำให้หลอดเลือดแดงเสียความยืดหยุ่น เกิดการตีบตัน ผลที่ตามมาคือ อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต เช่น หลอดเลือดเลี้ยงหัวใจตีบ ตัน เกิดอาการเจ็บหน้าอก กล้ามเนื้อหัวใจตาย หรือหลอดเลือดเลี้ยงสมองตีบ ทำให้เกิดอัมพาต เป็นต้น

หากคุณมีโอกาสลองคลำหลอดเลือดแดงหรือชีพจรที่ข้อศอกด้านในหรือข้อมือของผู้สูงอายุจะพบว่า เป็นเส้นแข็งไม่ยืดหยุ่นเหมือนวัยหนุ่มสาว ทั้งนี้เนื่องจากว่าหลอดเลือดแดงเหล่านี้เกิดการเสื่อมสภาพตามอายุ มีไขมันและหินปูน (แคลเซียม) เข้าไปสะสมอยู่ตามผนังของหลอดเลือดแดง ทำให้หลอดเลือดเสียความยืดหยุ่นและแข็ง ซึ่งหินปูนนี้ไม่เกี่ยวข้องกับปริมาณแคลเซียมในเลือดหรืออาหารที่เรารับประทาน ความจริงแล้วมีหลายปัจจัยที่ทำให้หลอดเลือดแดงเกิดการเสื่อม เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน บุหรี่ เป็นต้น แต่ “ อายุ ” ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญมากและเราไม่อาจเลี่ยงได้ หลอดเลือดแดงที่เสื่อมนี้จะเกิดขึ้นทั่วร่างกาย ทั้งหลอดเลือดที่เลี้ยงสมอง หัวใจ ไต ฯลฯ และแน่นอนเมื่อเกิดการเสื่อมก็จะเกิดการตีบตันของหลอดเลือดเล็กๆ ตามมา เป็นผลให้เลือดเลี้ยงสมองลดลง เกิดเนื้อสมองตายเป็นบางส่วน กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด กล้ามเนื้อหัวใจตาย ไตเสื่อม

ความดันโลหิตสูง : สาเหตุของการที่ความดันโลหิตสูงพบบ่อยเมื่อมีอายุมากขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากหลอดเลือดแดงแข็งตัวผิดปกติ บางส่วนเป็นผลจากการที่ไตขาดเลือดไปเลี้ยง การลดความดันโลหิตที่สูงลง ก็จะช่วยลดอัตราการเสี่ยงต่อการเกิดอัมพาตและลดปัญหาจากโรคหัวใจขาดเลือดด้วย ความดันโลหิตในผู้ใหญ่ไม่ว่าจะอายุเท่าไรก็ตาม ควรจะน้อยกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอท

หัวใจเต้นผิดจังหวะ : หัวใจเต้นผิดจังหวะที่พบได้บ่อย คือ จากห้องบนหรือที่เรียกว่า atrial fibrillation (AF) ชนิดนี้พบได้ในผู้ป่วยโรคปอด โรคหัวใจขาดเลือด โรคลิ้นหัวใจ โรคกล้ามเนื้อหัวใจบางชนิด โรคความดันโลหิตสูง และพบได้บ่อยในผู้สูงอายุ ในผู้ป่วยที่มีอาการหัวใจเต้นผิดปกติชนิดนี้ อาจเกิดลิ่มเลือดเล็กๆ ขึ้นภายในหัวใจ ลิ่มเลือดเล็กๆ เหล่านี้อาจหลุดลอยไปอุดหลอดเลือดเลี้ยงสมองได้ และเป็นต้นเหตุของการเกิดอัมพฤกษ์ อัมพาตขึ้น

ปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจขาดเลือด : อายุ พันธุกรรม การสูบบุหรี่ ไขมัน โคเลสเตอรอล ความดันโลหิตสูง ความเครียด เบาหวาน ถ้าหากมีปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้มากเท่าไหร่ โอกาสที่จะเกิดโรคก็มากขึ้นเป็นทวีคูณ


แหล่งข้อมูล : หนังสือ - เป็นโรคหัวใจทำอย่างไรดี

ข้อมูลสุขภาพที่เกี่ยวข้อง
ขจัดสี่วายร้ายให้ไกลตัว
โรคหลอดเลือดหัวใจ
รักหัวใจ ใส่ใจโคเลสเตอรอล
เมื่อหัวใจต้องไปเกี่ยวข้องกับความดันโลหิตสูง
โรคเบาหวานส่งผลต่อหลอดเลือดหัวใจ
ทีมา